11759
คณะเกษตรฯ มข. รวมข้อมูลเกษตรกรเลี้ยงไหม พัฒนาและทำหลักสูตรท้องถิ่น

ia

  • เมื่อวันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2556 ณ บ้านสวนสวรรค์ หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญชัย ถาวรอนุกูลกิจ อาจารย์ประจำสาขาวิชากีฏวิทยา ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ได้รับการสนับจากสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำนักศึกษาระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท-เอก ลงพื้นที่เพื่อศึกษาเรียนรู้วิธีการเลี้ยงไหมของเกษตรกรจากสถานการณ์จริงในพื้นที่ เพื่อการพัฒนาและจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น รายวิชาการปลูกหม่อน-เลี้ยงไหม ของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี โดยได้รับการต้อนรับและการบรรยายสรุปถึงสภาพทั่วไปและการทำอาชีพการเกษตรของเกษตรกร จากนายบุญ อินทร์โสม ผู้ใหญ่บ้าน บ้านสวนสวรรค์ และนายแสง สีชัยปัญหา กำนันตำบลบ้านใหม่ นักศึกษาที่ลงพื้นที่ ประกอบด้วย ระดับปริญญาตรี ปี2 ปี3 และปี4 สาขากีฏวิทยา จำนวน 14 คน และระดับปริญญาโท-เอก โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จำนวน 1 คน ทำการสำรวจปัญหาและความต้องการของเกษตรกรเลี้ยงไหม จำนวน 30 คน หลังจากการสำรวจแล้ว ได้สรุปเป็นประเด็นหลักเพื่อเสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้หาวิธีแก้ไขและช่วยเหลือให้ตรงกับประเด็นความต้องการ และเพื่อให้คณะทำงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับทราบวิธีการเลี้ยงไหมร่วมกัน แล้วเกิดการพัฒนาและจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นรายวิชาการปลูกหม่อน-เลี้ยงไหม ของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี โดยในช่วงสรุปเป็นประเด็น มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย พันตรีนิคม จันทราช มทบ.23 หัวหน้าชุดประสานงานโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านโศกส้มกบ นายฉัตรชัย อาภรณ์รัตน์ และ นายสุพจน์ บรรเทา จากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ขอนแก่น) นางวิจิตรา ดวงสนาม และนางสาวสุกรรญา แก้วศิริ จากโรงเรียนบ้านสวนสวรรค์ น.ส.อัญรินทร์ พิมพ์อิทธิภัทร จากสำนักงานเกษตรอำเภอสีชมพู น.ส.วนิดา ยาบกาย จากการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอสีชมพู นายสุภีร์ จันสวัสดิ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ อำเภอสีชมพู นางวราพร เผ่าสุพรรณ พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลบ้านใหม่ นางสงวน โปรยไธสง และนางกัลยา ตาขัน กรรมการกลุ่มปลูกหม่อนและเลี้ยงไหม และเกษตรกรผู้เลี้ยงไหม จำนวน 30 คน จากการสำรวจปัญหาและความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงไหม พบว่ามีปัญหาสุขภาพอ่อนแอเนื่องจากได้รับสารเคมีที่ใช้ในไร่อ้อยจึงต้องการการดูแลรักษาจากแพทย์ ต้องการจัดทำแปลงหม่อนกลางที่ช่วยกันดูแลรักษา รวมทั้งต้องการเงินทุน ปัจจัยและอุปกรณ์การเลี้ยงไหมใหม่ทดแทนของเก่า โดยปัญหาและความต้องการดังกล่าวนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญชัย ถาวรอนุกูลกิจ จะได้ดำเนินการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาญชัย ถาวรอนุกูลกิจ กล่าวว่า “ส่วนการพัฒนาและจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น รายวิชาการปลูกหม่อน-เลี้ยงไหม ของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ของโรงเรียนทั้งสามแห่ง คือ โรงเรียนบ้านสวนสวรรค์ โรงเรียนบ้านใหม่โสกส้มกบ และ โรงเรียนบ้านโสกจานนาดี ในพื้นที่โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านโสกส้มกบ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น นั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลวิธีการเลี้ยงไหมของเกษตรกรเป็นอันดับแรกก่อน เพื่อให้คณะทำงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับทราบวิธีการเลี้ยงไหมร่วมกัน แล้วเกิดการพัฒนาและจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นทั้ง 5 สาระการเรียนรู้ต่อไป โดยจะมีการเริ่มต้นที่การเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษให้สอดคล้องกับภาษาไทยที่ใช้ในการปลูกหม่อน-เลี้ยงไหม แล้วเผยแพร่ให้นักเรียนได้เรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริงต่อไป” ... [19/01/2013]




    ia .ia2 .ia3 .ia3
    ia2 .ia3 .ia3 .ia3
  • Reported/Photo by: /
824 people like this