7461
นศ.บัณฑิตศึกษา คณะเกษตรฯ มข. หาโจทย์วิจัยทำวิทยานิพนธ์ ในพื้นที่จริง

ia

  • นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรเกษตรเชิงระบบ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยการนำของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ สิมารักษ์ Assoc. Prof. Dr. John Caldwell อาจารย์ ดร.นิสิต คำหล้า และ อาจารย์ ดร.อรุณี พรมคำบุตร อาจารย์หลักสูตรเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปศึกษาดูงานระบบนิเวศเกษตร ที่ไร่คุณป้อม อำเภอน้ำหนาว การปลูกกะหล่ำปลี ที่ภูทับเบิก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และระบบการผลิตไม้ดอกไม้ประดับเพื่อการจำหน่าย ในอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ระหว่างวันที่ 31 มกราคม -2 กุมภาพันธ์ 2556 การศึกษาดูงานครั้งนี้ เป็นโครงการที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกภาคการศึกษา ภายใต้โครงการ Semester Trip มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พัฒนาศักยภาพของตนเองในด้านวิชาการจากประสบการณ์เรียนรู้ในพื้นที่จริง เป็นกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ในรูปของการศึกษาดูงานและพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักศึกษากับเกษตรกรในพื้นที่ สนับสนุนให้นักศึกษาได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ เพิ่มพูนประสบการณ์การเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง พัฒนาความรู้ และเป็นการประยุกต์ใช้วิชาที่สอนในหลักสูตร เช่น ทฤษฏีเกี่ยวกับระบบ การวิเคราะห์ระบบเกษตร ระบบเศรษฐกิจและระบบสังคม การวิเคราะห์พื้นที่ รวมทั้งขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล โดยศึกษาดูงานที่ไร่คุณป้อม อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการต้อนรับจากนางสาวเกษรา สุภัทรพาหิรผล เจ้าของไร่ และเจ้าของบริษัท สุวรรณภูมิ ออร์แกนิค จำกัด ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นมาของ ระบบการผลิต ระบบการจัดการแรงงาน ระบบการรับรองคุณภาพผักอินทรีย์ และระบบการตลาดของการผลิตผักอินทรีย์เพื่อการจำหน่าย โดยเริ่มต้นจากการเป็นเจ้าของร้านอาหารในจังหวัดขอนแก่น แต่มีปัญหาเรื่องปริมาณผักที่ต้องรับซื้อจากตลาดมีปริมาณไม่สม่ำเสมอ ราคาผันผวนสูง รวมทั้งการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร จึงทำให้ได้ริเริ่มการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิคส์ (Hydroponic) แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง รวมทั้ง ต้องพึ่งปัจจัยการผลิตจากภายนอก จึงทำให้เจ้าของบริษัทตัดสินใจเปลี่ยนมาปลูกผักด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ จากการเรียนรู้ ทดลองและประยุกต์ใช้ประสบการณ์การทำงานจากสถาบันการเงิน โดยความร่วมมือกับอุทยานเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และศูนย์ธุรกิจเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้บริษัทสามารถผลิตผักได้มากเพียงพอกับความต้องการของตลาด และมีมาตรฐานรองรับแปลงปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์จากสถาบัน BCS ?ko-Garantie ประเทศเยอรมนี กระทรวงสาธารณสุข และกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้สามารถผลิตผักได้ในเชิงธุรกิจเพื่อจำหน่าย ทั้งตลาดภายในประเทศ และส่งออกสู่ตลาดโลก สำหรับศึกษาดูงาน การปลูกกะหล่ำปลี ที่ภูทับเบิก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยได้รับข้อมูลจากเกษตรกรว่า กลุ่มผู้ปลูกกะหล่ำปลี ได้ดำเนินการจัดการโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวม้ง ซึ่งในอดีตนั้น คนท้องถิ่นปลูกข้าวไร่และฝิ่นเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม จากการพยายามยกเลิกการปลูกฝิ่นโดยภาครัฐ ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดและเผือก แต่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกพืชเมืองหนาว จึงมีการริเริ่มปลูกกะหล่ำปลี จนกระทั่งแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งดำเนินมาเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี ทำให้ภูทับเบิกกลายเป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยในแต่ปี ทำการปลูกกะหล่ำปลี 2 ครั้ง คือ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน โดยเกษตรกรได้เลือกพันธุ์กะหล่ำปลีที่เหมาะสมในการปลูกแต่ละช่วง ซึ่งในอดีตมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเข้มข้น แต่ปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐ ได้แนะนำให้มีการลดปริมาณการใช้สารเคมีลง และให้จัดการพืชแบบผสมผสานเป็นหลัก เช่น การใช้แบคทีเรีย Bacillus thuringiensis (BT) และ ตัวห้ำ ในการควบคุมแมลงศัตรูกะหล่ำ นอกจากนี้ เกษตรกรยังอธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับการใช้สารสารเคมีในการควบคุมศัตรูพืชในการปลูกกะหล่ำปลีในพื้นที่มีปริมาณไม่มากนัก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช ทำให้พืชมีความแข็งแรง และเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้การทำงานของเชื้อ BT ให้มีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ ภูทับเบิกได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากการปลูกกะหล่ำปลีแล้ว มีพืชที่กำลังขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น คือ สตรอเบอร์รี่ ซึ่งหากไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสม อาจกลายเป็นพืชที่ปลูกทดแทนกะหล่ำปลี และอาจส่งผลต่อปริมาณกะหล่ำปลีที่จะออกสู่ตลาดในอนาคต นอกจากนี้ การเปลี่ยนพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตกะหล่ำปลีในพื้นที่ได้เช่นกัน และนักศึกษายังมีโอกาส ศึกษาระบบการผลิตไม้ดอกไม้ประดับเพื่อการจำหน่ายในอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย โดยสัมภาษณ์เกษตรกรและตัวแทนจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับที่มีพื้นที่ติดถนนสาย 203 พบว่า เกษตรกรที่มีพื้นที่ติดถนนสายหลัก จะมีร้านหน้าพื้นที่เพื่อจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับ ในขณะที่เกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ติดถนนอาจเช่าหรือซื้อพื้นที่ติดถนน เพื่อทำเป็นแหล่งจำหน่ายผลผลิต หรือเกษตรกรบางรายที่ไม่มีพื้นที่ติดถนน ก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตให้กับผู้จำหน่าย ซึ่งในอดีต คนในพื้นที่จะรับไม้ดอกไม้ประดับจากจังหวัดเชียงใหม่มาจำหน่ายเป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่ สามารถผลิตไม้ดอกไม้ประดับได้เอง โดยซื้อจากแหล่งอื่นเพียงบางชนิดเท่านั้น และมีแหล่งวัตถุดิบที่ใช้เป็นวัสดุปลูกอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งไม้ดอกไม้ประดับที่ผลิตในอำเภอภูเรือ จะถูกส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศ ทั้งนี้เกษตรกรได้มีการทดลองเพื่อหาสัดส่วนการส่งไปจำหน่ายที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิดด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากต้องมีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น หน้าดิน ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในวัสดุปลูกออกไปยังพื้นที่อื่นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเกษตรกรจะมีการจัดการทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระบบการผลิตไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่ต่อไป อาจารย์ ดร.อรุณี พรมคำบุตร กล่าวว่า หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมในพื้นที่แล้ว นักศึกษาจะต้องนำเสนอต่อคณาจารย์ในหลักสูตรเพื่อวิเคราะห์ระบบ ชี้ประเด็นปัญหาในพื้นที่และกำหนดโจทย์วิจัยเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว เป็นการฝึกกระบวนการและ แนวทางในการหาโจทย์วิจัยในพื้นที่เพื่อทำวิทยานิพนธ์และการทำงานในอนาคตของนักศึกษาและเป็นการประยุกต์ใช้วิชาที่สอนในหลักสูตร เป็นการฝึกกระบวนการในการหาโจทย์วิจัยในพื้นที่เพื่อทำวิทยานิพนธ์และการทำงานในอนาคตของนักศึกษา รวมทั้งส่งเสริมการทำงานร่วมกันของนักศึกษาในหลักสูตรเกษตรเชิงระบบ นายชาลี เกตุแก้ว นักศึกษาหลักสูตรเกษตรเชิงระบบ ระดับปริญญาเอก กล่าวว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักศึกษา เพราะเป็นการฝึกประสบการณ์ในการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล การประสานงานกับผู้ให้ข้อมูลในพื้นที่ และเป็นการส่งเสริมการทำงานร่วมกันของนักศึกษาที่ต้องมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วย ... [29/03/2013]




    ia

  • Reported/Photo by: /
898 people like this