10350
อาจารย์คณะเกษตรฯ มข.ได้รับการเชิดชูเกียรติ สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมจากวุฒิสภา

ia

  • อาจารย์วีระ ภาคอุทัย อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้ารับใบประกาศเกียรติคุณโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะผู้ที่มีผลงาน ในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรมเป็นที่ประจักษ์ จากนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ระหว่างเวลา 07.30-12.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมรัฐสภา อาคารรัฐสภา 1 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตามทีประธานวุฒิสภาได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดมอบรางวัลโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ ขึ้น เพื่อพิจารณาประเมินผลงานที่มีผู้เสนอเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้มีการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม โดย อาจารย์วีระ ภาคอุทัย ได้ส่งผลงานประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ เรื่อง การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกปลอดภัย เข้าร่วมโครงการ ซึ่งคณะกรรมการจัดมอบรางวัลโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ ได้พิจารณาประเมินผลงานแล้วว่า เป็นผลงานที่มีคุณสมบัติผ่านหลักเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดไว้ จึงได้รับการตัดสินให้เข้ารับใบประกาศเกียรติคุณโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ ในใบประกาศเกียรติคุณโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ มีข้อความระบุว่า วุฒิสภา ใบประกาศเกียรติคุณฉบับนี้มอบให้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเกษตรศาสตร์ (อาจารย์วีระ ภาคอุทัย) “การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกปลอดภัย” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะผู้ที่มีผลงาน ในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรมเป็นที่ประจักษ์ ขอจงรับเกียรตินี้ไว้ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพรสืบไป ให้ไว้ ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ลงนามโดย ดร.นิลวรรณ เพชระบูรณิน ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวว่า “การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกปลอดภัย เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ให้ทำงานวิจัย โดยเริ่มที่จังหวัดชัยภูมิ แล้วแนวคิดจากจังหวัดชัยภูมิก็ถูกนำไปปรับใช้ที่จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน ซึ่งจุดเด่นของโครงการก็คือ ได้ประยุกต์แนวคิดของการจัดการระบบการทำฟาร์มของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ในอดีตมีความโดดเด่นมากและเป็นที่ยอมรับของวงการเกษตรไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทยแต่เรียกได้ว่าทั่วโลกก็ได้ หลักการก็คือ ต้องมีการวิเคราะห์พื้นที่ก่อน แล้วนำศาสตร์ทางด้านการตลาดทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วยปรับ ให้เกษตรกรเห็นอนาคตว่า ถ้าทำอย่างนี้แล้วเขาจะได้อะไร แล้วมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงมาช่วยป้องกันความเสียหายเข้ามาช่วยวิเคราะห์ เช่น จำนวนวันที่ฝนตก ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ดัชนีราคาสินค้ารายเดือน และการเคลื่อนไหวของระบบตลาด ซึ่งจะต้องนำสถานการณ์ในปัจจุบันเข้ามาประกอบในการตัดสินใจด้วย เช่น เปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ฝนตกเร็วหรือฝนตกช้า ก็จะมีผลต่อการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช เรื่องรายได้และราคาผลผลิต ท้ายสุดก็ต้องไปเชื่อมโยงแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางทำการเกษตร โดยให้เกษตรกรนำหลักการวิเคราะห์ การวางแผนเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตให้น้อยลง ทำในพื้นที่น้อยแบบประณีต ทำตามหลักวิชาการ ใช้ความรู้ที่ถูกต้องและทันสมัยในการขับเคลื่อน” อาจารย์วีระ กล่าวต่ออีกว่า “เมื่อผลงานวิจัยถูกนำไปใช้แล้วเกิดผลกับเกษตรกร ที่ปรับตัวตามแนวทางที่เราเสนอ ทำให้ผู้ปลูกพริกหันมาปลูกพริกในระบบปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี ทำให้สุขภาพร่างกายของเกษตรกรผู้ปลูกพริกดีขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือพริกปลอดสารเคมี คนกินก็ปลอดภัย สภาพแวดล้อมก็ดีขึ้น โดยองค์รวมก็คือ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและรายจ่ายลดลง ราคาของพริกปลอดภัยสูงขึ้น นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขบวนการคิดของเกษตรกร ที่จะต้องมีการรวมกลุ่มกันโดยประสานความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกพริกที่อยู่ใกล้เคียงกัน หน่วยงานที่ทำการส่งเสริม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องประสานความร่วมมือ ซึ่งจะต้องประสานตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไป หลังจากนั้น เมื่อเกษตรกรปฏิบัติได้ผลเป็นที่ยอมรับ กลายเป็นข้อมูลข่าวสารที่ทำให้พ่อค้าหรือผู้ซื้อสามารถเข้าถึงเกษตรกรที่ปลูกพริกปลอดภัยได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องเกิดการเชื่อมโยงกันคือ เกษตรกรก็ต้องคิดถึงผู้ซื้อ และผู้ซื้อก็ต้องคิดถึงเกษตรกร หมายความว่า เมื่อราคาพริกปลอดภัยสูงกว่าพริกทั่วๆไป เกษตรกรก็จะต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานให้คงอยู่ ในขณะเดียวกันผลผลิตพริกที่ได้ต้องมีปริมาณมากพอที่จะทำการค้า ช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่ท้องถิ่น มีผลทำให้เกิดการจ้างงาน ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับชุมชน เงินทุนหมุนเวียนในท้องถิ่นค่อนข้างนาน ช่วยลดปัญหาการกู้หนี้ยืมสินเงินนอกระบบได้มากพอสมควร เพราะว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรมีจำนวนคนน้อยลง เรื่องจำนวนประชากรภาคเกษตรกรรมถูกละเลยมานาน ในครอบครัวที่มีแรงงานเหลือน้อยนั้น และถ้าหากว่าเกษตรกรยังคงเป็นแบบตัวใครตัวมันด้วยแล้ว จะกลายเป็นอุปสรรคในอนาคต ถึงแม้ว่าแต่ละครอบครัวมีคนน้อยมีพื้นที่น้อย หากมารวมกันเป็นกลุ่มก็จะกลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งในอนาคตเกษตรกรกรจะต้องทำการเกษตรแบบธุรกิจการเกษตร โดยจะต้องนำแนวความคิดในเรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจเข้ามาร่วมด้วย คือการนำตลาดมาเป็นตัวตั้ง แล้วปรับระบบการผลิตของตัวเกษตรกรเองให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อ ราคาที่เกษตรกรได้รับต้องสะท้อนถึงราคาที่แท้จริง เพราะว่าสินค้าเกษตรโดนเอารัดเอาเปรียบมานานมากแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับการคำนวณทางภาคอุตสาหกรรม คือต้นทุนการผลิตทางภาคอุตสาหกรรมนั้น เขามีการคำนวณกันทุกอย่าง เช่น ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ค่าสวัสดิการ แรงงาน ฯลฯ รวมเข้าไว้หมด แต่ภาคการเกษตรไม่ได้รวม จึงคิดว่าภาคการเกษตรของทุกประเทศในโลกที่ประกอบอาชีพการเกษตรต้องมาช่วยกันปรับวิธีคิดในเรื่องนี้ใหม่ให้กับตลาดโลก เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นว่า สินค้าดีแต่กลับต้องขายในราคาที่ถูกซึ่งไม่ใช่ แท้จริงแล้วต้องขายได้ในราคาที่สูงขึ้นเพื่อความเป็นธรรม ซึ่งประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่าประเทศอุตสาหกรรมก็จะถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดไป” "ท้ายนี้ อยากขอฝากว่า ความรู้จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดโดยเฉพาะข้อมูลข่าวสาร ในปัจจุบันภาคการเกษตรปรับตัวไปมากแล้ว ซึ่งภาคที่ควรจะปรับตัวตามคือภาคราชการที่จะต้องปรับตัวเข้ากับเกษตรกร ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็วแก่เกษตรกรได้” อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวในที่สุด ... [07/11/2012]




    ia .ia2 .ia3

  • Reported/Photo by: /
1188 people like this