17531
มข.เผยแพร่ผลการพัฒนางานวิจัยไหมอีรี่

ia

  • มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้นำผลงานวิจัยเด่นเพื่อเสนอต่อสื่อมวลชนในกิจกรรม”นักวิจัยพบสื่อมวลชน” เป็นประจำต่อเนื่องเพื่อเป็นการเผยแพร่สนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัย โดยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ทีอาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี ได้มีการนำเสนอ ผลงานวิจัยไหมอีรี่ ผลงานของรศ.ดร. ศิวิลัย สิริมังครารัตน์ อาจารย์ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ผศ.ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน ท่ามกลางสื่อมวลชนทุกแขนงจำนวนมาก รศ.ดร. ศิวิลัย สิริมังครารัตน์ อาจารย์ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัยหลักในกลุ่มวิจัยการเพาะเลี้ยงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมป่าและแมลงสำคัญทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการวิจัยไหมอีรี่ มาตั้งแต่ปี 2534 ทั้งในด้าน การเพาะเลี้ยง การศึกษาพืชอาหาร การคิดค้นเครื่องผลิตเส้นไหมแบบสาว การแปรรูปเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องสำอาง หรือแม้กระทั่งปุ๋ย นับได้ว่าไหมอีรี่นี้เป็นแมลงเอกประสงค์อย่างครบวงจร ไหมอีรี่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย นำเข้ามาในประเทศไทยก่อนปี พ.ศ. 2523 เป็นไหมป่าชนิดหนึ่งที่สามารถผลิตเส้นใยธรรมชาติได้โดยปราศจากการใช้สารเคมี ไหมอีรี่เป็นที่นิยมเลี้ยงในพื้นที่ภาตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะไหมอีรี่กินใบละหุ่งและ ใบมันสำปะหลังเป็นอาหารหลัก ด้วยคุณสมบัตินี้เอง นักวิจัยจึงเห็นว่า ไหมอีรี่สามารถเลี้ยงได้ในพื้นที่ภาคอีสาน เพราะมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่คนอีสานปลูกกันเยอะที่สุดในประเทศไทย นอกจากนั้นไหมอีรี่ยัง เพาะเลี้ยงได้ดี คล้ายกับการเพราะเลี้ยงไหมบ้าน แต่ง่ายและประหยัดแรงงานกว่ามาก เพาะเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี ทนโรคทนแมลงศัตรู ในกระบวนการเพาะเลี้ยงไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีโปรตีนสูงมาก ปัจจุบัน การเพาะเลี้ยงไหมอีรี่กำลังประสบปัญหา การติดโรค และตายเพราะความร้อนของอากาศ รศ.ดร.ศิวิลัย และทีมวิจัยจึงได้ร่วมกันพัฒนาวิจัยปรับปรุงเทคนิคในการเพาะเลี้ยง ให้ได้ไหมอีรี่ที่สามารถทนร้อนมากได้ อีกทั้งได้พัฒนาเทคนิคให้ได้ขนาดของรังไหมที่ใหญ่ขึ้น เป็นไหมจัมโบ้ รศ.ดร. ศิวิลัย สิริมังครารัตน์ นักวิจัย กล่าวว่า คำว่าไหมทนร้อนเราถือว่า เป็นมิติใหม่ของการศึกษาในประเทศและทั้งในระดับโลก เพราะว่า ยังไม่มีรายงานในเรื่องนี้ และจากการที่ต่างประเทศเพาะเลี้ยงไม่ประสบความสำเร็จ มีการขอให้ทีมวิจัยช่วยเหลือ และอีกประการหนึ่งในช่วงฤดูร้อน ถ้าไม่ใส่ใจเท่าที่ควร ไหมจะตาย แต่ทีมวิจัยเราสามารถพัฒนาจนเพาะเลี้ยงได้ โดยเราคิดค้นเทคนิคในการเลี้ยง แล้วนำไปส่งเสริมชาวบ้านแล้วเป็นการต่อยอดและศึกษาพัฒนาไปสู่ชุมชนอย่างถาวรและยั่งยืนและสู่ชุมชนของโลก นอกจากนี้ ในด้านของการแปรรูป ที่ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น นั้นก็คือ ดักแด้ไหมอีรี่ทอดกรอบกระเทียมพริกไทย การนำฝักไหมมาทำเครื่องสำอาง การทำปุ๋ย โดยเฉพาะเสื้อผ้าไหมอีรี่ที่มีความพิเศษแตกต่างจากผ้าไหมทั่วไป กล่าวคือผ้าไหมอีรี่มีลักษณะเนื้อผ้าคล้ายผ้าฝ้ายแต่มีความแวววาวคล้ายไหมบ้าน แต่เมื่อนำไปสวมใส่ ในหน้าร้อนจะระบายอากาศได้ดี ขณะที่ในหน้าหนาวก็จะให้ความอบอุ่นได้อย่างดี นักวิจัยกล่าวต่อว่า สำหรับการส่งเสริมไปสู่เกษตรกร นั้น ได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านต้นแบบในการเพาะเลี้ยงไหมอีรี่ มีการขยายการเลี้ยงไปทั่วประเทศ มีการส่งเสริมการขาย ทั้ง ในระดับอุตสาหกรรมโรงงานทำเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออก ปัจจุบันตลาดมีความต้องการ รังไหม และเส้นไหมอีรี่ อย่างมาก โดยราคาเส้นไหมจากเดิมจะอยู่ที่ ราคา 550 -750 บาท ปัจจุบันราคา 1400 – 2000 บาท ซึ่งก็ขึ้นกับฤดูการและฝีมือ นอกจากนี้รังไหมก็ขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 50 บาท ขณะนี้ ราคา 280 บาท ปัจจุบันพื้นที่มีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย เช่น ภาคเหนือ ที่จังหวัดอุทับธานี จังหวัดนครสวรรค์ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น อำเภอมัญจาคีรี หมู่บ้านต้นแบบอยู่ที่อำเภอเมืองพล สำหรับเกษตรกรที่สนใจ ก็สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มวิจัยการเพาะเลี้ยงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมป่าและแมลงสำคัญทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม มหาวิทยาลัยขอนแก่น 043-362108 หรือ 088-5490302 หลังจากเสร็จสิ้นการแถลงข่าวแล้วคณะนักวิจัยได้เชิญชวนสื่อมวลชนได้ชิมผลิตภัณฑ์อาหารจากไหมอีรี่ พร้อมให้สัมภาษณ์รายละเอียดของโครงการ และ นายบัญชา พระพล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร เป็นผู้กล่าวขอบคุณสื่อมวลชน ... [29/11/2012]




    ia .ia2 .ia3 .ia3
    ia2 .ia3 .ia3
  • Reported/Photo by: /
1093 people like this