5925
คณะเกษตรฯ มข. ลงพื้นที่ติดตามผลโครงการแก้ปัญหาความยากจน

ia

  • เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ พลธานี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย นางสาวจาวภา มะนาวนอก อาสาพัฒนาพื้นที่ประจำตำบลยางตลาด อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง มหาวิทยาลัยขอนแก่น

    การติดตามผลการดำเนินงานครั้งนี้ได้มีการนำชาวบ้านส่วนหนึ่งเข้าเยี่ยมชมการดำเนินกิจกรรมของครัวเรือนผู้ร่วมโครงการที่ประสบผลสำเร็จที่จะพัฒนาเป็นครัวเรือนต้นแบบต่อไป

    กิจกรรมการทำเกษตรผสมผสาน

    ที่บ้านหัวงัวของนางเกิ่ง เพ็ชรบรมย์ ไม้ผลไม้ยืนต้นที่ปลูกได้เริ่มให้ผลผลิต และขายได้แล้ว เช่น มะละกอ กล้วย และเพกา ทำให้มีรายได้รายวันเกิดขึ้นนอกจากใช้บริโภคในครัวเรือน

    กิจกรรมการเลี้ยงเป็ด

    ที่บ้านหัวงัวของนางเกิ่ง เพ็ชรบรมย์ เป็ดที่เลี้ยงนอกจากจะได้บริโภคไข่ และขายตัวเป็ดเป็นรายได้ในครัวเรือนแล้วยังได้แบ่งปันตัวเป็ดให้กับครัวเรือนอื่นที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันนำไปเลี้ยงเพื่อลดรายจ่ายค่าอาหาร และเพิ่มรายได้ในครัวเรือน

    กิจกรรมการปลูกข้าวนาหยอดแทนข้าวนาหว่าน

    การปลูกข้าวนาหว่านที่ชาวบ้านปลูกอยู่ในปัจจุบันทำให้สิ้นเปลืองเมล็ดพันธุ์มาก และมีปัญหาวัชพืชการเปลี่ยนแปลงวิธีการปลูกข้าวจากนาหว่านมาเป็นนาหยอดโดยใช้เครื่องทุ่นแรงหยอดเมล็ด ซึ่งจะประหยัดเมล็ดพันธุ์ได้ถึง 2-3 เท่า จึงได้ไปเยี่ยมแปลงชาวบ้านที่นำวิธีการปลูกข้าวนาหยอดไปใช้ หมู่บ้านหัวงัว นางสุริยา ภูสมที และนางวิภาพร ผลเรือง จากการดูลักษณะการเจริญเติบโตของข้าวเปรียบเทียบระหว่างนาหว่าน และนาหยอด ซึ่งอยู่ระหว่างรอการเก็บเกี่ยว ข้าวนาหยอดน่าจะให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่านาหว่าน เพราะรวงข้าว และเมล็ดข้าวมีขนาดใหญ่กว่านาหว่าน

    กิจกรรมการปลูกผักในช่วงฤดูฝน

    ราคาผักในช่วงฤดูฝนจะมีราคาแพง โครงการได้แนะนำให้ชาวบ้านที่มีพื้นที่ดอนปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเดิมที่ทำอยู่ปัจจุบันที่มีอายุยาว ให้รายได้ต่อหน่วยพื้นที่ต่ำเปลี่ยนมาปลูกพืชอายุสั้นบางส่วนที่จะให้รายได้รายวัน และมีมูลค่าสูงแทน โดยใช้น้ำจากสระกักเก็บน้ำฝนในกรณีเกิดฝนทิ้งช่วง ถ้ามีน้ำมากพอในช่วงฤดูแล้งก็จะสามารถปลูกพืชผัก จึงได้ไปเยี่ยมชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ นายถาวร ภูคะฮาต หมู่บ้านจอมศรี ซึ่งได้ปลูกแตงกวา ฟักทอง ผักกาด ฯลฯ ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาทำให้มีผักบริโภคในครัวเรือน และขายเป็นรายได้

    นอกจากนั้นในวันนี้ ยังได้มีการประชุมกลุ่มชาวบ้านจอมศรี เพื่อวางแผนปลูกผักในลักษณะกลุ่มในบริเวณพื้นที่เดียวกัน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จะปลูกผักในนาหลังเก็บเกี่ยวข้าวโดยอาศัยน้ำจากหนองน้ำสาธารณะ พื้นที่นา 2 ไร่ จำนวน 10-15 ครัวเรือน ซึ่งเป็นแปลงของนายวิรัช ภูธาตุเพชร ที่เสียสละให้คนอื่นเข้ามาร่วมปลูกผักโดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงย่อยตามจำนวนสมาชิกกลุ่ม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะปลูกผักบนที่ดอนซึ่งเดิมปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ 3 ไร่ โดยอาศัยน้ำจากบ่อบาดาล ซึ่งเป็นพื้นที่ดินของนายถาวร ภูคะฮาต ที่เสียสละให้คนอื่นเข้ามาร่วมปลูกผักตลอดปี เพื่อสร้างรายได้

    ศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ พลธานี กล่าวว่า “ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมาในการดำเนินกิจกรรมการผลิตในรูปแบบต่างๆ จะเริ่มเห็นผลที่ชัดเจนในบางครัวเรือนตามเส้นทางไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ขั้นที่ 1 พัฒนาเพื่ออยู่รอด (survive) และบางครัวเรือนเริ่มจะเข้าสู่ขั้นที่ 2 แล้วคือ พอเพียง (sufficient)” ... [12/11/2015]





    ia .ia2 .ia3 .ia3
    ia2 .ia3 .ia3 .ia3
    ia2 .ia3 .ia3 .ia3
  • Reported/Photo by: จาวภา มะนาวนอก / จาวภา มะนาวนอก
370 people like this