14944
คณะเกษตรฯ มข.อบรมเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ เพิ่มโอกาสและศักยภาพการผลิตพริก

ia

  • เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2556 ณ ห้องประชุมศาลาประชาคม ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ อาจารย์วีระ ภาคอุทัย และ อาจารย์ ดร.เยาวรัตน์ ศรีวรานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนวการวิจัย(สกว.) ให้ทำโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบการตัดสินใจและการจัดการโซ่อุปทานพริกปลอดภัยจังหวัดแพร่ น่านและชัยภูมิ” จัดประชุมและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “โอกาสและศักยภาพการผลิตพริก จังหวัดชัยภูมิ” ได้รับเกียรติจาก นายบรรยงค์ วงศ์กนิษฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานกล่าวเปิดงานและให้ความเห็นต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรจาก 8 อำเภอ ในจังหวัดชัยภูมิเข้าร่วมประชุม จำนวน 200 คน ได้แก่ อำเภอเมืองชัยภูมิ 10 คน อำเภอบำเหน็จณรงค์ 35 คน อำเภอเทพสถิต 24 คน อำเภอคอนสาร 10 คน อำเภอเกษตรสมบูรณ์ 30 คน อำเภอบ้านแท่น 10 คน อำเภอซับใหญ่ 10 คน อำเภอจัตุรัส 56 คน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 15 คน โดยได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยภูมิ โครงการอาหารปลอดภัย ผู้นำกลุ่มท้องถิ่นในแต่ละตำบลและอำเภอ หน่วยงานราชการต่างๆในจังหวัด เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานการค้าภายในจังหวัดชัยภูมิ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยภูมิ สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ สหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดชัยภูมิ และทีมวิจัยโครงการอาหารปลอดภัยฯจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ที่ได้มาเข้าร่วมและแลกเปลี่ยนความรู้

    ในการจัดประชุมครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำงานวิจัยโครงการ “การพัฒนาระบบการตัดสินใจและการจัดการโซ่อุปทานพริกปลอดภัยจังหวัดแพร่ น่านและชัยภูมิ” เพื่อให้เกิดการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการเกษตรแบบปลอดภัยอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพริกขี้หนูผลใหญ่ที่สำคัญในลำดับต้นๆของประเทศไทย และจากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยภูมิ พบว่า จังหวัดชัยภูมิมีพื้นที่เพาะปลูกพริกปี 2554/55 ประมาณ 35,750.25 ไร่ จำนวนครัวเรือนที่ปลูกพริกทั้งหมด 12,015 ครัวเรือน โดยที่จังหวัดชัยภูมิมีสภาพพื้นที่ ที่มีความเหมาะสมในการปลูกพริก คือ มีแหล่งน้ำจากลำน้ำพรมและแหล่งน้ำอื่นๆไหลผ่านจังหวัด เพียงพอต่อความต้องการในการทำการเกษตร ปริมาณฝนตกอยู่ในเกณฑ์น้อย และระยะทางของแหล่งผลิตพริกอยู่ใกล้ตลาดขายส่งพริก ทำให้จังหวัดชัยภูมิมีผลผลิตพริกออกสู่ตลาดทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง

    อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวว่า โครงการวิจัยฯ ได้ทำการศึกษาและช่วยแก้ปัญหาเรื่องผลผลิตต่อไร่ ว่าทำอย่างไรให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการผลิต กำไรเพิ่ม แก้ไขปัญหาโรคและแมลงในแปลงพริก การจัดการแปลงปลูกพริกให้เหมาะสม โดยโครงการวิจัยได้มุ่งเน้นในการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการเกษตรแบบปลอดภัย การจัดการกลุ่มเกษตรกรปลูกพริกปลอดภัย การวิเคราะห์และพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการสนับสนุนการตัดสินใจการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกร สร้างความเข้าใจร่วมกันในการทำงานแบบบูรณาการระหว่างเกษตรกร ชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งจากความร่วมมือดังกล่าวทำให้เกษตรกรได้รับองค์ความรู้จากงานวิจัยในการผลิตพริกอย่างปลอดภัย เกิดการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพริก เกิดการรับรู้ข่าวสารอย่างรวดเร็วทำให้มีการปรับแผนการผลิตและการบริหารจัดการได้ทันการณ์ และรับทราบการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบโดยตรง เช่น การจัดการความรู้ไปสู่การวางแผนเฝ้าระวังและป้องกันโรคและแมลง

    อาจารย์วีระ กล่าวต่ออีกว่า โครงการวิจัยฯ มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อราปฏิปักษ์มาใช้ในการป้องกันกำจัดปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช ได้แก่ เชื้อราไตรโครเดอร์มา และเชื้อราบิวเวอร์เรีย ซึ่งเป็นวิธีป้องกันกำจัดโดยชีววิธี เป็นการลดการใช้สารเคมี ลดปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร ผลผลิตพริกได้คุณภาพตามมาตรฐานพริกปลอดภัย(GAP) จากกรมวิชาการเกษตร ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเกษตรกร และยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิต มีการสาธิตการขยายเพิ่มปริมาณเชื้อราไตรโครเดอร์มาและเชื้อราบิวเวอร์เรีย สาธิตการทำกับดักผีเสื้อกลางคืนจากขวดน้ำดื่มและกากน้ำตาล ซึ่งวัสดุที่หาง่ายทั่วไป และการนำกับดักไปใช้ เป็นการตัดวงจรชีวิตของหนอนผีเสื้อที่ทำลายผลผลิตพริก การวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง(pH) การตรวจธาตุอาหารในดิน การปรับปรุงบำรุงดิน

    “การรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ปลูกพริกใกล้กันหรืออยู่ติดกันให้เข้าสู่ระบบเกษตรปลอดภัย รวมถึงการวางแผนเลือกระยะเวลาปลูกบนจุดแข็งของพื้นที่ที่มีปัจจัยเอื้อต่างกัน จะทำให้พริกมีบทบาททั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมก่อให้เกิดรายได้แก่เกษตรกรและก่อให้เกิดการจ้างแรงงานในจังหวัด” อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวในที่สุด

    โดยโครงการวิจัยฯ มีกำหนดจัดประชุมและฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแก่เกษตรกรอีกครั้ง ในวันที่ 25-26 มีนาคม พ.ศ.2556 ณ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ... [21/03/2013]





    ia .ia2 .ia3 .ia3
    ia2 .ia3
  • Reported/Photo by: /
900 people like this