1854
กิจกรรมการใส่สารอินทรีย์ในแปลงทดลองระยะยาว ปีที่ 24

ia

  • กลุ่มวิจัยการจัดการอินทรียวัตถุของดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีพันธกิจหลักประการหนึ่งคือ การวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของอินทรียวัตถุของดิน จากการใส่สารอินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่มีองค์ประกอบทางเคมีต่างกัน เพื่อให้สามารถได้องค์ความรู้พื้นฐานด้านกลไกที่นำไปสู่การเพิ่มพูนปริมาณอินทรียวัตถุในดินทรายเสื่อมโทรม ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงคุณสมบัติของดินเหล่านี้ การเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดินจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรม

    เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 กลุ่มวิจัยการจัดการอินทรียวัตถุของดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ปัทมา วิตยากร แรมโบ หัวหน้ากลุ่มวิจัยฯ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ผู้ช่วยวิจัย จากสาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักวิจัยของกลุ่มวิจัยฯ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบ็ญจพร กุลนิตย์ จากคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งได้นำนักศึกษามาร่วมเรียนรู้แบบลงมือทำจริง ร่วมกับแรงงานอีก 6 คน ได้ดำเนินการใส่สารอินทรีย์ที่มีคุณภาพ หรือองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกันให้กับดิน ณ แปลงทดลองระยะยาว ณ สำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

    ซึ่งการใส่ครั้งนี้เป็นการเริ่มรอบปีที่ 24 ของการใส่อย่างต่อเนื่องปีละครั้ง โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 สารอินทรีย์ที่ใส่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น และเป็นตัวแทนสารอินทรีย์ที่มีองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน ได้แก่ ฟางข้าว ส่วนต้นใบรากถั่วลิสงที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว ใบพลวงร่วง และใบ-ก้านมะขามร่วง แปลงการทดลองระยะยาวนี้ได้ใช้เป็นสถานที่วิจัยและให้วัสดุในการทำวิจัย ทำให้สามารถสร้างองค์ความรู้ต่อยอดและต่อเนื่องมา จนสร้างบัณฑิตระดับปริญญาโทและเอกมาแล้ว 11 คน และสนับสนุนอาจารย์/นักวิจัยรุ่นใหม่ในสาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม 5 คน ที่ทำวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ในหัวข้อการใช้สารอินทรีย์ปรับปรุงดิน ส่งผลให้สามารถตีพิมพ์ผลงานในวารสารระดับนานาชาติ 11 เรื่อง และในขณะเดียวกัน ยังสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยสู่สังคมในด้าน การให้หลักการจัดการสารอินทรีย์เพิ่มอินทรียวัตถุให้ดินทรายเสื่อมโทรมอีกด้วย ... [15/05/2018]





    ia .ia2 .ia3 .ia3
    ia2 .ia3
  • Reported/Photo by: มรกต สิงหะสุริยะ / ปภัสสร ริยะบุตร
77 people like this