10393
คณะเกษตรฯ มข.จัดประชุมระดับชาติ เรื่อง ความมั่นคงด้านอาหารของประเทศไทย

ia

  • การประชุมวิชาการระดับชาติด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร เศรษฐศาสตร์ทรัพยากร เศรษฐศาสตร์การอาหาร และธุรกิจการเกษตร ครั้งที่ 2 เรื่อง ความมั่นคงด้านอาหารของประเทศไทยหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมี นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานพิธีเปิดการประชุม รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้ร่วมประชุม รองศาสตราจารย์ ดร.ศรันย์ วรรธนัจฉริยา อุปนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุม 150 คน พร้อมทั้งมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่าง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยรองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ ภัทรจินดา รองคณบดีฝ่ายวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะเกษตรศาสตร์ นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นผู้ลงนาม เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออร์คิด นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต กล่าวเปิดประชุมว่า ที่ผ่านมาการส่งเสริมการเกษตรในส่วนภูมิภาคก็จะเน้นไปในเรื่องของกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เรื่องลดต้นทุน เรื่องเพิ่มผลผลิต การนำผลผลิตไปสู่มาตรฐานของความปลอดภัยในระดับสากล แต่พอมาเห็นหัวข้อประชุมในวันนี้ ผนวกกับสถานการณ์ปี 2558 ที่จะเกิดมีเขตการค้าเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยนแล้ว เริ่มมีความรู้สึกว่า การมุ่งเน้นเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรเพียงอย่างเดียว น่าจะไม่พอแล้ว ที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้มองปัจจัยที่จะได้รับผลกระทบหรือไม่ได้มองการแข่งขันในระหว่างประเทศมากนัก แต่ในภายหน้าถ้าหากทางวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร เศรษฐศาสตร์ทรัพยากร เศรษฐศาสตร์การอาหาร และธุรกิจการเกษตร ไม่เข้ามาช่วยแล้ว คิดว่าขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันทางด้านการเกษตรคงจะตามไม่ทันประเทศเพื่อนบ้านเป็นแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหาร ก็เพิ่งทราบว่า มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะลึกซึ้ง และต้องเริ่มตระหนักกันในกรอบของความมั่นคงทางอาหาร ที่เน้นองค์ประกอบหลักในเรื่องของความพอเพียง ในเรื่องของการเข้าถึงของประชาชนที่เข้าถึงอาหาร ดูในเรื่องของการใช้ประโยชน์และการได้รับประโยชน์ ดูในเรื่องของการมีอาหารบริโภคต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งที่ผ่านมายังพูดกันน้อย แต่ถ้าจะรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน รับโลกไร้พรมแดนที่จะเข้ามาในข้างหน้านี้ เป็นสิ่งที่จะต้องรีบดูกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว ประชากรส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบ นายสมศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ในภายหน้า คำว่าเขตแดน พรมแดนหรือว่าระยะทาง มันจะไม่ใช่เรื่องกีดกั้น ขัดขวางการไปมาหาสู่กันของผู้คน รวมไปถึงการค้าข้ามชาติข้ามประเทศ เพราะฉะนั้น การปรับตัวในเรื่องความมั่นคงทางอาหารยิ่งมีความสำคัญ นอกเหนือจากการเพิ่มผลผลิต ขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคเกษตร เพราะว่าในเรื่องของความเพียงพอในการเข้าถึงอาหาร เป็นเรื่องสิทธิที่พี่น้องประชาชนจะพึงมีพึงได้ แต่ถ้าไม่ได้มีการระแวดระวังกันไว้ ก็อาจได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้น ประเด็นการประชุมที่เน้นในเรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศไทยก็น่าจะเป็นประเด็นที่จะต้องเพิ่มน้ำหนักกันไปเรื่อยๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว ในระยะยาวอาจมีผลกระทบตามมา “รู้สึกดีใจที่เห็นสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และภาคีเครือข่ายทั้ง 5 สถาบัน ได้จับประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยกัน หวังว่าสาระที่ได้จากการระดมความคิดเห็น ก็น่าจะเป็นประโยชน์ ในการเดินรายละเอียดข้างหน้าในประเด็นนี้ต่อไป” นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต กล่าวในที่สุด การประชุมวิชาการระดับชาติด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร เศรษฐศาสตร์ทรัพยากร เศรษฐศาสตร์การอาหารและธุรกิจการเกษตร ครั้งที่ 2 นี้ มีสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินการหลัก ร่วมกับ 4 สถาบันการศึกษา และ 1 หน่วยงานได้แก่ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและส่งเสริมเผยแพร่เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน และเผยแพร่องค์ความรู้ ประสบการณ์และผลงานทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร เศรษฐศาสตร์ทรัพยากร เศรษฐศาสตร์การอาหาร และธุรกิจการเกษตร แก่คณาจารย์ นิสิต/นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หัวข้อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศไทยหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมืออันดีระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานเครือข่ายด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร เศรษฐศาสตร์ทรัพยากร เศรษฐศาสตร์การอาหาร และธุรกิจการเกษตร ทั้งภาครัฐและเอกชน การบรรยายพิเศษ หัวข้อเรื่อง ความมั่นคงด้านอาหารหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดย รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ความว่า ปัจจุบันสังคมโลกก้าวสู่ยุงสังคมแห่งภูมิปัญญาและการแข่งขันทางการค้า โดยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างขีดความสามารถและการขยายโอกาสด้านการแข่งขันในอนาคต อีกทั้งแรงกดดันจากการแข่งขันในยุคการค้าเสรีจะทำให้เกิดมาตรการกีดกันการค้าทางอ้อม ที่มุ่งเน้นการกำหนดมาตรฐานและคุณภาพสินค้า ประเทศในกลุ่มอาเซียนผลิตสินค้าเกษตรกันมาก แต่ส่วนมากแล้วส่งออกไปนอกอาเซียน ภูมิภาคอาเซียนผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน น้ำตาลทราย มันสำปะหลัง ยาง และกาแฟ สำหรับประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรติดอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก สินค้าเกษตรที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกสูง คือ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อพิจารณาความมั่นคงอาหารของไทย พบว่าในภาพรวมแล้วประเทศไทยยังมีอุปทานส่วนเกินด้านการผลิตอาหารอยู่ แต่มีความกังวลต่อเกษตรกรรายย่อยภายใต้การก้าวไปของนโยบายการค้าเสรี เพราะภาคเกษตรของไทยประกอบด้วยเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก มีผลผลิตต่ำ มีต้นทุนสูง และขาดการจัดการเชิงธุรกิจไร่นา พืชผักสวนครัวท้ายบ้านหดหายไป และต้องพึ่งพาการบริโภคและอุปโภคจากภายนอกครัวเรือน อีกทั้งเกษตรกรหันไปสู่การผลิตพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น ทำให้ครัวเรือนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการเข้าถึงอาหารที่จำเป็นมากขึ้น นอกจากนั้นครัวเรือนจำนวนไม่น้อยที่มีการบริโภคอาหารต่ำกว่าความต้องการพลังงานขั้นต่ำของร่างกาย ดังนั้นภาคการเกษตรของไทยต้องมีการปรับตัวเชิงนโยบายเพื่อความมั่นคงทางอาหารโดยการบริหารนโยบายเกษตรเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร (Smart Policy) แบบหลอมรวมเข้าด้วยกัน ได้แก่ (1) ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการผลิตโดยภาครัฐควรสนับสนุนปัจจัยการผลิตพื้นฐาน เช่นการชลประทาน การจัดที่ดินเพื่อนการเกษตรให้เกษตรกรผู้ยากไร้ การจัดสินเชื่อให้การเกษตร และการลงทุนวิจัยทางด้านการเกษตร (2) ด้านศักยภาพทางการตลาดโดยสร้างประสิทธิภาพและแก้ความไม่เป็นธรรม และ (3) ด้านราคาและรายได้โดยปกป้องช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และการอภิปรายพิเศษ หัวข้อเรื่อง โอกาสและความท้าทายในการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเกษตรหลังเปิด AEC โดยรศ.ดร.กมล เลิศรัตน์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.พรศรี เหล่ารุจิสวัสดิ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ จำกัด (มหาชน) นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และนายเดชา สิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ ดำเนินรายการ โดย ผศ.ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปได้ว่า ตามแนวคิดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of United Nations: FAO) ความมั่นคงทางอาหารสามารถพิจารณาได้จาก 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ (1) การมีอาหารเพียงพอในภาพรวมของประเทศ (2) การเข้าถึงอาหาร (3) การใช้ประโยชน์หรือการบริโภคที่ถูกหลักอนามัยและหลักโภชนะศาสตร์ และ (4) ความมีเสถียรภาพตลอดปี ถ้าหากพิจารณาประเด็นเรื่องการมีอาหารเพียงพอเพียงองค์ประกอบเดียว ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารดีมาก เพราะมีผลผลิตเกษตรและอาหารส่วนเกิน สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้หลายสินค้า แต่หากพิจารณาในบริบทอื่นๆแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยในปัจจุบันมีความมั่นคงด้านอาหารต่ำลง เกิดวิกฤตสังคมไทยไม่อยู่เย็นเป็นสุข ประสบปัญหามากมาย เช่น รายได้ต่ำ ขาดทุน เป็นหนี้ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลง ผลผลิตเกษตรและอาหารเสี่ยงต่อความปลอดภัย มีคนป่วยและเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น เช่น หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง ทางเดินหายใจ และความดันโลหิต ซึ่งมีสาเหตุจากการการบริโภคไม่ถูกหลักอนามัยและหลักโภชนะศาสตร์ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกันในภูมิภาคอาเซียน หากพิจารณาตลาดในภูมิภาคอาเซียน เราสามารถแบ่งตลาดออกเป็น 2 ส่วน คือกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีกำลังซื้อสูงในอาเซียน และกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีความต้องการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยและมีความสามารถในการจ่าย ดังนั้นโอกาสและความท้าทายของไทยในการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเกษตรหลังเปิด AEC นั้น ประเทศไทยควรมุ่งผลิตสินค้าที่ทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข (Wellbeing) เช่นการผลิตสินค้าใหม่ กลุ่มใหม่ที่เน้นเพื่อสุขภาพและทำให้คุณภาพชีวิตสูงขึ้น มีความหลากหลาย สะดวกและทันสมัย มีระบบการผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีระบบการผลิตแบบยั่งยืน ลดพลังงาน น้ำ และขยะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ผลิตและแปรรูปอาหารจากธรรมชาติ ผลิตอาหารเหมาะกับวัย โรค และอาหารที่เป็นยา ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้แก่สินค้าเกษตรของไทยอย่างมาก นอกจากนี้แล้ว ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยหรือผลงานทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร เศรษฐศาสตร์ทรัพยากร เศรษฐศาสตร์การอาหาร และธุรกิจการเกษตร โดยคณาจารย์ นิสิต/นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 16 เรื่อง ... [23/05/2013]




    ia

  • Reported/Photo by: /
602 people like this