8780
คณะเกษตรฯ มข.จับมือ FAO ชูแมลงเป็นแหล่งโปรตีนลดปัญหาการขาดแคลนอาหารของประชากรโลก

ia

  • เมื่อวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2556 เวลา 11.30 น. ณ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Penthouse FCCT) อาคารมณียาเซ็นเตอร์ 518/5 ถนนเพลินจิต ข้างอัมรินทร์พลาซ่า ใกล้สถานีรถไฟฟ้าชิดลม กรุงเทพมหานคร องค์กรอาหารเพื่อการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of The United Nations ,FAO) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิก ได้เปิดแถลงข่าวเปิดตัว รองศาสตราจารย์ ดร.ยุพา หาญบุญทรง ผู้เขียนหนังสือ Six-legged livestock: edible insect farming, collecting and marketing in Thailand และให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนนานาชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.ยุพา หาญบุญทรง อาจารย์ประจำสาขาวิชากีฏวิทยา ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านแมลงกินได้ ขององค์กร อาหารเพื่อการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of The United Nations ,FAO) เปิดเผยว่า ในการประชุม Forest for Food Security and Nutrition ซึ่งมี Mr.Jose Graziano da Silva, Director General ของ FAO เป็นผู้เปิดงาน ระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2556 ณ สำนักงานใหญ่ กรุงโรม ประเทศอิตาลี อาจารย์เองได้นำเสนอเรื่องแมลงกินได้ (edible insects) ให้กับที่ประชุมใหญ่ของ FAO ในครั้งนั้น โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นระดับรัฐมนตรี จาก100 ประเทศ กว่า 400 คน ทำให้ทั่วโลกยอมรับในการใช้แมลงกินได้เป็นเสบียงอาหารโปรตีนสำรองสำหรับประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้น ดังกล่าวนี้จึงได้ร่วมกับ FAO ในการผลิตหนังสือ Six-legged livestock : edible insect farming, collecting and marketing in Thailand ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกเกี่ยวกับการทำฟาร์มเลี้ยงแมลงกินได้ของไทยเพื่อเป็นอาหารโลก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการเพาะเลี้ยงแมลงกินได้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว โดยเริ่มแรกมาจาก ดร.ทัศนีย์ แจ่มจรรยา อาจารย์ภาควิชากีฎวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในขณะนั้น โดยได้มีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหาร ทำให้แมลงกินได้ของไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก ทาง FAO จึงได้ร่วมกันจัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้และเป็นบทเรียนสำหรับใช้กับประเทศอื่นๆ ว่าการทำฟาร์มแมลงกินได้เป็นอาชีพทำอย่างไร โดยในหนังสือเล่มนี้จะมีเรื่องของการทำฟาร์มจิ้งหรีด การทำฟาร์มด้วงมะพร้าว รวมไปถึงการเก็บแมลงมาจากป่าควรทำอย่างไรเพื่อให้มีแมลงที่สามารถกินได้อยู่ตลอดเวลา โดยแมลงกินได้เหล่านี้ยังมีการพัฒนาให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งการแปรรูปแมลงกินได้ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ยุพา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประชากรโลกมีประมาณ 7 พันล้านคน อีกประมาณ 30-40 ปี ข้างหน้าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 9 พันล้านคน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นทุกปี ปัญหาคือ ในอนาคตพืชอาหารอื่นๆ จะไม่พอต่อความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งอาหารโปรตีนด้วย แมลงเป็นแหล่งโปรตีนที่ราคาถูกและใช้พื้นที่น้อยในการผลิต ขณะเดียวกันก็ผลิตได้ในปริมาณมาก ขณะที่สัตว์อื่นๆซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีน ไม่สามารถที่จะผลิตให้เพียงพอต่อผู้บริโภคในอนาคตได้ ด้วยมีพื้นที่ในการผลิตจำกัด ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ ดังนั้น แมลงจึงเป็นแหล่งโปรตีนอาหารสำรองอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับประเทศไทยของเราไม่มีปัญหาเรื่องการกินแมลงเพราะเรากินมาตั้งนานแล้ว แต่ต่างประเทศยังมีปัญหาซึ่งเขากินแมลงไม่เป็น เพราะเคยกินแต่สัตว์ใหญ่ ทีนี้เขาเลยสนใจมาเรียนรู้จากเราว่า กินแล้วจะปลอดภัยอย่างไร แล้วจะทำฟาร์มอย่างไร ขณะนี้ประเทศแอฟริกาสนใจเรื่องนี้มาก เนื่องจากอาหารไม่พอต่อความต้องการของประชาชน และต้องการจะให้เราไปช่วยในเรื่องของการเพาะเลี้ยงแมลงเพื่อเป็นอาหารในประเทศของเขา “การที่จะให้ประชากรโลกหันมาบริโภคแมลงเป็นอาหาร เพื่อช่วยลดปัญหาขาดแคลนแหล่งอาหารโปรตีนนั้น ต้องเริ่มรณรงค์สร้างการรับรู้ตั้งแต่ตอนนี้ ว่าแมลงสามารถกินได้ กินอย่างไรให้ปลอดภัย อนาคตเราต้องให้ความสำคัญของการศึกษามาตรฐานอาหารของอาหารแมลงเช่นเดียวกับอาหารอื่นๆ เช่น มาตรฐานอาหารแมลงเพื่อการส่งออกต้องเป็นยังไง เป็นต้น” รองศาสตราจารย์ ดร.ยุพา กล่าวในที่สุด ลิ้งค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง New FAO book explores edible insect sector in Thailand "Six-legged livestock: edible insect farming, collecting and marketing in Thailand" : http://www.fao.org/asiapacific/rap/home/news/detail/en/?news_uid=176349 สำหรับผู้ที่สนใจและต้องการหนังสือ Six-legged livestock: edible insect farming, collecting and marketing in Thailand สามารถ download ได้ที่ website FAO : http://www.fao.org/docrep/017/i3246e/i3246e00.htm ... [23/05/2013]




    ia

  • Reported/Photo by: /
805 people like this