8904
คณะเกษตรฯ มข.จับมือ ม.ราชภัฏมหาสารคาม อบรมเกษตรกรปลูกพริกเพื่อการค้า

ia

  • อาจารย์วีระ ภาคอุทัย อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการการพัฒนาระบบการตัดสินใจและจัดการโซ่อุปทานพริกปลอดภัย จังหวัดแพร่ น่านและชัยภูมิ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้รับเชิญจากคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผักเพื่อการค้าตามมาตรฐาน Good Agricultural Practices (GAP) ให้เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง เทคนิคการผลิตพริกเชิงพาณิชย์และฤดูกาลที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกและการจัดการธุรกิจชุมชน พร้อมกับสาธิตการขยายเชื้อราขาวบิวเวอเรียและเชื้อราไตรโคเดอร์มา ในการอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มเกษตรกร จำนวน 52 คน โดยมีอาจารย์ อินทร์ธัชว์ ศรีบุตต์ อาจารย์สุนทร โชคสวัสดิ์ธนะกิจ และนักศึกษา 3 คน จากคณะเทคโนโลยีการผลิตพืช มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม นายสุพรรณ สมภักดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 และนายธีรพล จันทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 เป็นผู้ประสานงานอำนวยความสะดวก ณ ศาลาเฉลิมพระเกียร์ติ บ้านหนองหิน (ใต้) หมู่ที่ 4 ตำบลโคกก่อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2556 อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวว่า บ้านหนองหิน เป็นหมู่บ้านขนาด 300 กว่าหลังคาเรือน มีอาชีพหลักในการทำการเกษตรกรรมโดยเฉพาะการปลูกข้าวเหนียว กข.6 ปลูกอ้อยโรงงาน ปลูกมันสำปะหลัง ทำการเกษตรโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แม้ว่าจะมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คือ ห้วยคะคาง ที่มีน้ำใช้ตลอดทั้งปีแต่ไม่มีระบบชลประทานที่จะดึงน้ำขึ้นไปใช้ได้ สภาพพื้นดินเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จากการที่คณะกรรมการหมู่บ้านได้มีการแบ่งพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์รอบหนองน้ำให้แต่ละครัวเรือนได้ปลูกพื้นผักไว้บริโภค หากเหลือจากบริโภคก็ขาย พืชผักที่ปลูกเป็นหลักได้แก่ พริก ซึ่งเป็นพริกพันธุ์พื้นเมืองที่ได้พันธุ์มาจากจังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา และในแต่ละปีประมาณเดือนตุลาคม เกษตรกรเริ่มเพาะกล้าพริกโดยการหว่านเมล็ดพันธุ์ลงในแปลงดิน ถึงเดือนพฤศจิกายนหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็จะเริ่มปลูกพริก โดยปลูก3 ต้น/หลุม แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 20-30 เซนติเมตร รวมใช้กล้าพริกประมาณ 10,000 ต้น/ไร่ ซึ่งเกษตรกรให้เหตุผลว่า กลัวต้นพริกจะล้มและจะให้ผลผลิตน้อย แต่ปัญหาที่ตามมาคือ โรคและแมลงระบาดอย่างมาก หลังจากปลูกพริกแล้วเกษตรกรจะปลูกผักอื่นๆแซม เช่น ผักชี กวางตุ้งและต้นหอม เป็นต้น ผลผลิตพริกจะออกสู่ตลาดประมาณเดือนมกราคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเดือนเก็บพริกจากจังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษออกสู่ตลาด อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวต่ออีกว่า “จากข้อมูลตามที่กล่าวมานั้น จึงเป็นที่มาของการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ในเรื่อง เทคนิคการผลิตพริกเชิงพาณิชย์และฤดูกาลที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกและการจัดการธุรกิจชุมชน พร้อมทั้งการสาธิตการขยายเชื้อราขาวบิวเวอเรียและเชื้อราไตรโคเดอร์มา โดยให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกปฏิบัติและนำไปใช้ได้ ก็เพื่อต้องการให้เกษตรกรรู้จักวางแผนก่อนการผลิตพืช รู้จักใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี เกิดความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค และเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตทั้งการปลูกพริกและการปลูกผักด้วย” ... [07/10/2013]




    ia .ia2 .ia3

  • Reported/Photo by: /
773 people like this