8701
บุคลากรคณะเกษตรฯ มข. รับรางวัล เชิดชูเกียรติบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ia

  • บุคลากรสายผู้สอนและสายสนับสนุน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นเป็นแบบอย่างที่ดี ได้รับรางวัล “เชิดชูเกียรติบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น” ประกาศยกย่องและเชิดชูเกียรติพร้อมรับโล่ ตามที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการสรรหา กลั่นกรอง และคัดเลือกบุคลากรเพื่อเข้ารับรางวัล “เชิดชูเกียรติบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น” ให้แก่บุคลากรสายผู้สอนและสายสนับสนุน เพื่อเป็นการยกย่อง สนับสนุน ส่งเสริม สร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานให้กับบุคลากรผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นเป็นแบบอย่างที่ดี และเพื่อประกาศยกย่องและเชิดชูเกียรติพร้อมรับโล่ นั้น เมื่อการคัดเลือกได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ผลปรากฏว่า มีบุคลากรของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งสายผู้สอนและสายสนับสนุน ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ตามประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 1847/2555 ลงวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เรื่อง ผลการคัดเลือกรางวัลเชิดชูเกียรติบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2555 กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 4 คน ตามประเภทรางวัลดังต่อไปนี้ คือ 1. รองศาสตราจารย์ ดร.กมล เลิศรัตน์ สังกัดสาขาวิชาพืชสวน ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับรางวัลเชิดชูเกียรติบุคลากรสายผู้สอน ด้านการให้บริการวิชาการ ระดับดีเลิศ และยังได้รับการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นบุคลากรตำแหน่งวิชาการที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น อุทิศเวลาให้แก่ราชการและเป็นแบบอย่างที่ดีสมควรแก่การยกย่อง เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัล “ศรีมอดินแดง” เหรียญที่ระลึกทองคำพร้อมโล่เกียรติยศ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2555 ที่กำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2555 ที่จะถึงนี้อีกด้วย 2. อาจารย์วีระ ภาคอุทัย สังกัดภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับรางวัลเชิดชูเกียรติบุคลากรสายผู้สอน ด้านการให้บริการวิชาการ ระดับดีเยี่ยม 3.นางสาวกันยา แสนพล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ สังกัดภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับรางวัลเชิดชูเกียรติบุคลากรสายสนับสนุน ด้านสนับสนุนพัฒนาวิชาการ ระดับดีเยี่ยม 4.นางอนุรักษ์ อุทธา พนักงานการเงินและบัญชี งานคลังและพัสดุ สำนักงานคณบดี คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับรางวัลเชิดชูเกียรติบุคลากรสายสนับสนุน ด้านสนับสนุนการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ระดับดีเยี่ยม สำหรับประวัติหรือผลงานของผู้ได้รับรางวัลพอสังเขป คือ 1.รศ.ดร.กมล เลิศรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการจัดตั้งอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 โดย การก่อตั้งอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร ที่พัฒนาจากพื้นที่รกร้างกลางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้กลายเป็นสถานที่เผยแพร่ผลงานด้านการเกษตรและบริการวิชาการแก่ชุมชน จนถึงปัจจุบัน และในปี พ.ศ.2545 ถึงปัจจุบัน รศ.ดร.กมล เลิศรัตน์ ยังได้เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน โดยสามารถบริหารจัดการ จนได้รับรางวัลศูนย์วิจัยดีเยี่ยม ดีเด่น และดีเลิศ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถึง 3 ปีติดต่อกัน คือ พ.ศ.2548 2549 และ 2550 และรางวัลที่สำคัญที่สุดคือ รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงาน “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2553” (Thailand Research Expo 2010) และผลงานวิจัยหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากก็คือ การวิจัยพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์ใหม่ พันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง พร้อมการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการวิจัยในรูปแบบ จากไร่นาถึงโต๊ะอาหาร (From Farm to Table) หรือ จากไร่นาสู่ช้อน ( From Farm to Fork) นั่นเอง (ขอบคุณข่าว: ร่วมแสดงความยินดีบุคลากร มข.ที่จะเข้ารับพระราชทานรางวัล “ศรีมอดินแดง” เว็บไซต์ http://goo.gl/Pplpn) 2.อาจารย์วีระ ภาคอุทัย เป็นหัวหน้าโครงการ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกปลอดภัย ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เริ่มงานวิจัยที่จังหวัดชัยภูมิ แล้วนำแนวคิดจากจังหวัดชัยภูมิ ไปปรับใช้ที่จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน ซึ่งจุดเด่นของโครงการคือ การประยุกต์แนวคิดของการจัดการระบบการทำฟาร์มของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ในอดีตมีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับของวงการเกษตรทั่วโลก โดยมีหลักการคือ มีการวิเคราะห์พื้นที่ก่อน แล้วนำศาสตร์ทางด้านการตลาดทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วยปรับ ให้เกษตรกรเห็นอนาคตว่าทำอย่างนี้แล้วเขาจะได้อะไร แล้วมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงมาช่วยป้องกันความเสียหายเข้ามาช่วยวิเคราะห์ เช่น จำนวนวันที่ฝนตก ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ดัชนีราคาสินค้ารายเดือน และการเคลื่อนไหวของระบบตลาด ซึ่งจะต้องนำสถานการณ์ในปัจจุบันเข้ามาประกอบในการตัดสินใจด้วย เช่น เปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ฝนตกเร็วหรือฝนตกช้า ก็จะมีผลต่อการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช เรื่องรายได้และราคาผลผลิต ท้ายสุดไปเชื่อมโยงแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทาง โดยให้เกษตรกรนำหลักการวิเคราะห์ การวางแผนเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตให้น้อยลง ทำในพื้นที่น้อยแบบประณีต ทำตามหลักวิชาการ ใช้ความรู้ที่ถูกต้องและทันสมัยในการขับเคลื่อน 3.นางสาวกันยา แสนพล มีผลงาน การพัฒนาสื่อวิดิทัศน์ประกอบการสอน บทปฏิบัติการตรวจสอบน้ำนมทางจุลินทรีย์ โดยการนำความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสื่อมัลติมีเดีย ให้มีบทบาทต่อการเรียนการสอนมากขึ้น สามารถช่วยให้การผู้สอนออกแบบบทเรียนตอบสนองต่อแนวคิดและทฤษฎีการเรียนรู้ได้ดี รวมทั้งส่งผลโดยตรงต่อผู้เรียนในการช่วยเสริมการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น เพราะสื่อมัลติมีเดียวีดิทัศน์ เป็นสื่อที่ใช้ง่าย เก็บรักษาง่าย พกพาได้สะดวก ดังนั้นการนำเอาสื่อวีดิทัศน์มาใช้ในการประกอบการสอนปฏิบัติการตรวจสอบจุลินทรีย์ในด้านคุณภาพนม ทำให้เทคนิคในการปฏิบัติการที่มีความซับซ้อน หลายขั้นตอน ให้มาอยู่ในรูปแบบที่ถูกต้องและชัดเจน นักศึกษาสามารถเรียนรู้ก่อนลงมือปฏิบัติการจริง ซึ่งจะช่วยลดข้อผิดพลาดในการทำการทดลอง และสามารถทำการทดลองได้อย่างรวดเร็ว โดยสื่อวีดิทัศน์ฯ ได้แสดงเนื้อหาถึงหลักการ อุปกรณ์ ขั้นตอนและวิธีการ ในการปฏิบัติการทดลองทั้งหมด 6 บทปฏิบัติการ ได้แก่ การตรวจสอบ resazurine การตรวจสอบ methylene blue การตรวจนับ standard plate count การตรวจนับ coliform และการตรวจนับด้วยกล้องจุลทรรศน์ 4.นางอนุรักษ์ อุทธา เป็นผู้ที่แสดงออกถึงความตั้งใจและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่ร่วมรณรงค์การแต่งกายด้วยชุดผ้าไทยแบบไทย อยู่อย่างสม่ำเสมอทำให้เป็นที่ชื่นชมและเป็นแบบอย่างแก่ผู้ร่วมงานและบุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็นอยู่เป็นนิจ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แสดงความยินดี ชื่นชมและภูมิใจกับบุคลากร ที่ได้รับรางวัล “เชิดชูเกียรติบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น”และได้รับรางวัลบุคลากรตำแหน่งวิชาการที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ในครั้งนี้ ... [16/11/2012]




    ia .ia2 .ia3 .ia3

  • Reported/Photo by: /
931 people like this